London Naval Conference (1930)

การประชุมนาวีที่กรุงลอนดอน (๒๔๗๓)

​     ​​​การประชุมนาวีที่กรุงลอนดอน ค.ศ. ๑๙๓๐ เป็นการประชุมของชาติมหาอำนาจ ๕ ประเทศที่กรุงลอนดอน ระหว่างวันที่ ๒๑ มกราคม ถึง ๒๒ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๐ เพื่อพิจารณาปัญหาการลดกำลังอาวุธและการจำกัดอาวุธทางเรือ เจมส์ แรมเซย์ แมกดอนัลด์ (James Ramsay MacDonald ค.ศ. ๑๘๖๖-๑๙๓๙)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษจากพรรคแรงงาน (Labour Party)* มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการประชุมครั้งนี้ และได้รับเลือกเป็นประธานของที่ประชุม การประชุมนาวีครั้งนี้ไม่บรรลุผลสำเร็จมากนักเพราะอิตาลีและฝรั่งเศสไม่ยอมรับข้อตกลงส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงมีเพียง ๓ ประเทศมหาอำนาจ คือ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่นเท่านั้นที่ร่วมลงนามในความตกลงการจำกัดกำลังทางเรือเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๐
     การประชุมนาวีที่กรุงลอนดอนเป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมที่กรุงวอชิงตัน (Washington Conference) ค.ศ. ๑๙๒๒ ในการประชุมครั้งนั้นประเทศมหาอำนาจตกลงจะหยุดสร้างเรือรบเป็นเวลา ๑๐ ปี แต่ไม่ได้ตกลงกันในรายละเอียดเกี่ยวกับเรือประเภทต่าง ๆ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๗-๑๙๒๙ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นพยายามเจรจาตกลงเรื่องการจะจำกัดกำลังทางเรือลงอีก แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ในอังกฤษซึ่งเจมส์แรมเซย์ แมกดอนัลด์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ ๒ โดยมีพรรคเสรีนิยม (Liberal Party)* สนับสนุนแมกดอนัลด์ต้องการให้มีการประชุมจำกัดกำลังทางเรือขึ้นให้ได้ เขาจึงเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาในต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๙ เพื่อโน้มน้าว ประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต คลาร์ก ฮูเวอร์ (Herbert Clark Hoover) แห่งสหรัฐอเมริกาให้เห็นด้วย เมื่อสหรัฐอเมริกาตกลงที่จะเข้าร่วมประชุมอังกฤษจึงออกสารเชิญสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และอิตาลี รวมทั้งผู้แทนของเครือจักรภพ (Commonwealth of Nations)* เข้าร่วมประชุมด้วย
     การประชุมนาวีที่กรุงลอนดอนเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๐ โดยพระเจ้าจอร์จที่ ๕ (George V ค.ศ. ๑๙๑๐-๑๙๓๖)* เสด็จเปิดประชุม แมกดอนัลด์ได้รับเกียรติในฐานะเจ้าภาพและเป็นผู้แทนของอังกฤษ ได้เป็นประธานของที่ประชุม ผู้แทนแต่ละประเทศเห็นชอบร่วมกันในหลักการการประกันความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security)* เป็นแนวทางของการจะจำกัดและลดอาวุธทางเรือแต่ต้องไม่ทำลายความมั่นคงของแต่ละชาติ โดยต้องคำนึงถึงความต้องการของแต่ละชาติในด้านกำลังทางเรือรวมทั้งเงื่อนไขแวดล้อมอื่น ๆ ของแต่ละประเทศด้วย ฝรั่งเศสเสนอให้จำกัดขนาดระวางทั่วไปของเรือทุกประเภทและให้แต่ละประเทศแบ่งจำนวนระวางเองอีกขั้นหนึ่ง อิตาลีเห็นด้วยกับฝรั่งเศส แต่อังกฤษและสหรัฐอเมริกาคัดค้านและเสนอแนวทางประนีประนอมให้จำกัดจำนวนระวางสำหรับเรือสงครามบางประเภทและบางประเภทก็ไม่ต้องจำกัด ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยยกเว้นอิตาลีซึ่งประกาศว่าจะยอมรับความตกลงเมื่อที่ ประชุมให้อิตาลีมีกำลังทางเรือเท่าเทียมฝรั่งเศส แต่ฝรั่งเศสไม่ยินยอมซึ่งทำให้อิตาลีไม่พอใจ
     ในการประชุมที่ใช้เวลาเกือบ ๓ เดือนนั้น มีการพิจารณาปัญหาต่าง ๆ หลายเรื่องและสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๐ โดยมีสาระสำคัญของความตกลง ๓ ข้อใหญ่ คือ ๑) ทุกประเทศเห็นชอบให้ยุติการสร้างเรือสงครามจนถึง ค.ศ. ๑๙๓๖ และจะไม่สร้างเพิ่มขึ้นตามที่สนธิสัญญาวอชิงตัน ค.ศ. ๑๙๒๒ กำหนดไว้ ๒) การกำหนดขนาดระวางของเรือลาดตระเวน (cruiser) เรือพิฆาต (destoryer) และเรือดำน้ำ (submarine) ให้ ใช้อัตราส่วน ๑๐ : ๑๐ : ๗ ฝรั่งเศสและอิตาลีไม่เห็นด้วยและปฏิเสธที่ จะตกลงด้วย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่นจึงตกลงร่วมกันว่าสหรัฐอเมริกามีสิทธิสร้างเรือลาดตระเวนขนาดหนักที่มีขนาดใหญ่กว่าอังกฤษได้อังกฤษมีสิทธิสร้างเรือลาดตระเวนขนาดเบาที่มีระวางมากกว่าสหรัฐอเมริกา ส่วนญี่ปุ่นมีสิทธิสร้างเรือลาดตระเวนขนาดเบาและเรือพิฆาตได้โดยมีจำนวนระวางเท่ากับร้อยละ ๗๐ ของสหรัฐอเมริกา ส่วนเรือดำน้ำนั้นทั้ง ๓ ประเทศได้สิทธิเท่ากัน น้ำหนักระวางของแต่ละประเทศโดยสรุปคือ อังกฤษ ๕๔๑,๗๐๐ ตัน สหรัฐอเมริกา ๕๒๖,๒๐๐ ตัน และญี่ปุ่น ๓๖๗,๐๕๐ ตัน ๓) หากประเทศที่อยู่นอกความตกลงมีกำลังทางเรือมากกว่าประเทศภาคีสัญญาประเทศใดประเทศหนึ่งและเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศภาคีนั้น ๆ ประเทศภาคีสัญญาก็สามารถเพิ่มขนาดระวางเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของตนเองและต้องแจ้งให้ประเทศภาคีสัญญา อีก ๒ ประเทศทราบด้วย เพื่อจะได้เพิ่มขึ้นทำนองเดียวกันในอัตราส่วนที่ตกลงกันไว้ ความตกลงนี้มีอายุ ๕ ปี
     แม้ประเทศมหาอำนาจจะสามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับการจำกัดกำลังทางเรือแต่หลายประเทศก็เห็นว่าความตกลงดังกล่าวไม่บรรลุผลสำเร็จมากนัก เพราะฝรั่งเศสและอิตาลีซึ่งเป็นประเทศที่มีกำลังทางเรือสำคัญในภาคพื้นทวีปยุโรปไม่ได้ร่วมลงนามด้วย การที่ประเทศภาคีสัญญาสามารถเพิ่มกำลังทางเรือได้ หากเห็นว่าประเทศอื่นจะคุกคามก็เป็นจุดอ่อนของความตกลงฉบับนี้เพราะเปิดโอกาสให้ประเทศมหาอำนาจใช้เป็นข้ออ้างเพิ่มกำลังทางเรือได้ทุกขณะเวลา อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนมากรวมทั้งสมาชิกรัฐสภาทั้งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษต่างเห็นชอบกับความตกลงที่มีขึ้น ในญี่ปุ่นประชาชนก็สนับสนุนรัฐบาลในการทำความตกลงครั้งนี้แต่กองทัพเรือต่อต้านอย่างมากและผู้บัญชาการกรมเสนาธิการทหารเรือประท้วงด้วยการลาออกจากตำแหน่งองคมนตรี นอกจากนี้ พลเรือเอก ทะกะระเบะทะเกะชิ (Takarabe Takeshi) รัฐมนตรีทหารเรือซึ่งเป็นผู้แทนไปร่วมประชุมเมื่อกลับมาถึงกรุงโตเกียว ก็มีผู้ส่งมีดไปให้เขาเป็นของกำนัลโดยมีข้อแนะนำให้ใช้คว้านท้องตนเอง
     ประเทศมหาอำนาจทั้ง ๕ ชาติกำหนดที่จะประชุมหารือกันอีกครั้งหนึ่งที่กรุงลอนดอนใน ค.ศ. ๑๙๓๕ เพื่อทบทวนความตกลงใน ค.ศ. ๑๙๓๐ และ จะหารือเรื่องการจำกัดจำนวนกำลังเรือบรรทุกเครื่องบินภายหลังการประชุมนาวี ค.ศ. ๑๙๓๐ องค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* ได้จัด การประชุมลดอาวุธโลก (World Disarmament Conference)* ขึ้นที่นครเจนีวา ค.ศ. ๑๙๓๒ โดยมีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมกว่า ๖๐ ประเทศ แต่การประชุมดังกล่าวก็ประสบความสำเร็จไม่มากนัก
     ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศในกลางทศวรรษ ๑๙๓๐ ที่สืบเนื่องจากอดอลฟ์ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler ค.ศ. ๑๘๘๙-๑๙๔๕)* ผู้นำเยอรมนีพยายามละเมิดความตกลงของสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* และการลาออกจากการเป็นสมาชิกองค์การสันนิบาตชาติของญี่ปุ่นใน ค.ศ. ๑๙๓๓ อันสืบเนื่องจากปัญหาการรุกรานแมนจูเรีย ตลอดจนการเกิดสงครามอิตาลี-เอธิโอเปีย (Italo-Ethiopian War ค.ศ. ๑๙๓๕-๑๙๓๖)* ก็ทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศไม่ราบรื่นญี่ปุ่นจึงประกาศถอนตัวที่จะเข้าร่วมประชุมที่กรุงลอนดอน ใน ค.ศ. ๑๙๓๕ อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกาจึงจัดประชุมขึ้นในปลาย ค.ศ. ๑๙๓๕ และตกลงที่จะจำกัดขนาดระวางเรือลาดตระเวนและเรือพิฆาตไว้ ๘,๐๐๐ ตันและเรือรบ (capital ship) ๓๕,๐๐๐ ตัน อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาญี่ปุ่นได้เพิ่มขนาดเรือรบเกินกว่า ๓๕,๐๐๐ ตันซึ่งทำให้ประเทศมหาอำนาจต้องประชุมทบทวนเรื่องกำลังรบกันอีกครั้งใน ค.ศ. ๑๙๓๘ แต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ที่เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๙ ก็ทำให้ความตกลงจำกัดอาวุธต่าง ๆ ต้องสิ้นสุดลงโดยปริยา


การประชุมที่กรุงวอชิงตันเป็นการประชุมระหว่างประเทศครั้งสำคัญภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ณ กรุงวอชิงตันดี.ซี. สหรัฐอเมริการะหว่างเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๑ ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๒ ประเทศที่ เข้าร่วมประชุมทั้งหมดมี ๙ ประเทศ คือสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลีเบลเยียม เนเธอร์แลนด์โปรตุเกส จีนและญี่ปุ่นสาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือการ จำกัดกำลังทางเรือและปัญหาอื่นๆ เกี่ยวกับตะวันออกไกล ประเทศมหาอำนาจทั้ง๕ ประเทศ คือสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่นฝรั่งเศส และอิตาลีตกลงจำกัดกำลังทางเรือรบเป็นอัตราส่วน ๕ : ๕ : ๓ : ๑.๗๕ : ๑.๗๕ ตามลำดับโดยมีกำหนดเวลา ๑๐ ปีนอกจากนี้มีการ ตกลงเรื่องการเคารพบูรณภาพดินแดนของจีนและให้จีนเปิดประตูการค้าต่อทุกประเทศอย่างเท่าเทียมกันด้วยการลงนามในสนธิสัญญา ๙ ชาติ (The Nine Powers Treaty) สหรัฐอเมริกา อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่นยังทำสนธิสัญญาตกลงเคารพสิทธิของกันและกันเหนือเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกกำหนดอายุสัญญา ๑๐ ปีซึ่งมีผลให้สนธิสัญญาพันธไมตรีระหว่างอังกฤษกับญี่ปุ่นใน ค.ศ. ๑๙๐๒ สิ้นสุดลง ขณะเดียวกันจีนกับญี่ปุ่นก็สามารถตกลงกันได้ในปัญหามณฑลชานตง (Shandong)

คำตั้ง
London Naval Conference
คำเทียบ
การประชุมนาวีที่กรุงลอนดอน
คำสำคัญ
- องค์การสันนิบาตชาติ
- การประชุมลดอาวุธโลก
- การประกันความมั่นคงร่วมกัน
- ฮูเวอร์, เฮอร์เบิร์ต คลาร์ก
- สนธิสัญญา ๙ ชาติ
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- แมกดอนัลด์, เจมส์ แรมเซย์
- พรรคแรงงาน
- พรรคเสรีนิยม
- ปัญหามณฑลชานตง
- จอร์จที่ ๕, พระเจ้า
- สงครามอิตาลี-เอธิโอเปีย
- เครือจักรภพ
- การประชุมนาวีที่กรุงลอนดอน
- การประชุมที่กรุงวอชิงตัน
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1930
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๗๓
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 3.L 143-268.pdf